หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

พบปะชุมชนกับรายการหน้าต่างสังคม 


เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 นายอิบราฮิม ยานยา ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และคณะผู้จัดรายการหน้าต่างสังคม ภายใต้มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ได้จัดกิจกรรมพบปะกับประชาชนซึ่งเป็นผู้ติดตามรายการผ่านทางวิทยุ อสมท.ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 20.00-21.00 น.

การจัดกิจกรรมพบปะกับประชาชนในพื้นที่ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทางรายการได้จัดขึ้น ณ โรงเรียนบ้านลากอ ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 60 กว่าคน มาจากพื้นที่อำเภอยะหา กาบัง จังหวัดยะลา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัญหาสังคม การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงและรับฟังข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ในประเด็นต่างๆ

ผู้เข้าร่วมจากอำเภอยะหา กล่าวว่า จากการเข้าร่วมในครั้งนี้ เกิดมิติใหม่ในการพัฒนา แลกเปลี่ยนโดยเฉพาะมุมมองการดำเนินงานของมูลนิธิและประชาชน ซึ่งจะต้องเดินควบคู่กันไป การพูดคุยในวันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นสร้างความเข้มแข็งและความมั่นใจต่อประชาชนในการขับเคลื่อนงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม อยากให้มีกิจกรรมพูดคุยให้กับพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป





วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อเลขาฯ ศอ.บต.

วันนี้ 15 ธันวาคม 2554 เครือข่ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อเลขาธิการ ศอบต. กรณีคัดค้านและเสนอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปยังนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่ามกลางฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ทางรัฐบาลได้ประกาศต่ออายุการบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
เวลาประมาณ 11.00น.นายกริยา มูซอ ผู้ประสานงานเครือข่ายคัดค้าน พ.ร.ฉุกเฉิน พร้อมตัวแทนเครือข่าย 19 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ รายละเอียดในจดหมายระบุว่า ทางเครือข่ายมีการขับเคลื่อนกิจกรรมกับประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการรับฟังนำมาซึ่งข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณา ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งตลอดเวลาการแก้ไขปัญหา 6 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ แต่กลับเพิ่มกระแสความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น หรืออคติของผู้ที่ถูกควบคุมตัว จนกลายเป็นการล่อเลี้ยงปัญหาการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสนอให้ทางรัฐบาลทบทวนการบังคับใช้อย่างละเอียดก่อนการประกาศต่ออายุ แต่ละครั้งที่จะมีการต่ออายุ จะต้องมีการสอบถามเพื่อถ่วงดุลการบังคับใช้กฎหมายด้วย ทางเครือข่ายประกาศเจตนารมณ์จะขับเคลื่อน คัดค้านการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อไป

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

UN จี้รื้อกฎหมายหมิ่นฯ แถลงอัดไทยละเมิดพันธะ

http://hilight.kapook.com/view/65502

ตั้งกองทุนล่าหมื่นรายชื่อ เสนอพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร

http://www.deepsouthwatch.org/node/2595

การธำรงอัตลักษณ์คือการธำรงไว้ซึ่งชาติพันธุ์และศาสนา

2011-11-23 05:26:10
ตูแวดานียา มือรีงิง

การเดินทางของข้าพเจ้าจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งยิงรายวันและระเบิดจนกลายเป็นเหตุการณ์ปกติไปแล้วในภาคใต้สู่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้แตกต่างกับทุกครั้ง เนื่องจากการเดินทางในครั้งนี้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เดินทางร่วมกับผู้เข้าร่วมโครงการประชาหารือและแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมอีกประมาณ 20 กว่าชีวิต ที่มาจากหลากหลายอาชีพและวัยวุฒิที่ต่างกัน มีทั้งตัวแทนหน่วยงานรัฐในพื้นที่อาทิ รอง ผอ.ศอ.บต. ภาคประชาสังคม นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ กวีซีไรต์ นักการเมืองท้องถิ่น และสื่อมวลชน 

เราเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่สู่จังหวัดเชียงใหม่โดยสายการบินแอร์เอเชีย ทุกคนที่เดินทางมาเชียงใหม่ในครั้งนี้พกความหวังและเปี่ยมไปด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ในการที่จะร่วมหาทางแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในการธำรงอัตลักษณ์ในสังคมพหุวัฒนธรรม: วิถีสู่สันติภาพชายแดนใต้ โครงการนี้จัดโดยมูลนิธิเอเชีย ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย  2554

ทำไมการสัมมนาเกี่ยวการแก้ปัญหาภาคใต้มูลนิธิเอเชียต้องมาจัดไกลถึงเชียงใหม่ คุณอ้นหรือสันติ ดินแดน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการได้อธิบายให้ฟังว่า การเลือกจังหวัดเชียงใหม่นั้นเนื่องจากเชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาคลายคลึงกับสามจังหวัดคือเคยเป็นอาณาจักรของตัวเองเหมือนกับสามจังหวัด มีภาษาเป็นของตัวเอง และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวโดยตรงเช่น อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ และนางสาวลาเคละ จะทอ ผู้แทนจากเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากร ที่สำคัญผู้จัดต้องการพาผู้เข้าร่วมออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง ปลดปล่อยความเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กิจกรรมแรกก็น่าสนใจแล้วโดยการแนะนำตัวเองของผู้เข้าร่วมทุกคนว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน เพื่อสร้างความใกล้ชิดและความเป็นกันเอง จากการแนะนำตัวเองทำให้สามารถสลายความตึงเครียดและสร้างบรรยากาศเป็นกันเองได้มาก นอกจากแนะนำว่าเป็นใคร ทำงานอะไร ผู้เข้าร่วมต้องบอกด้วยว่าคาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ มีหลายๆ ท่านมีความเป็นมาทางชาติพันธุ์ที่น่าสนใจและหลากหลาย เช่นบางคนพ่อเป็นเป็นมลายูปัตตานี แม่เป็นชาวกรุงเทพ ตากับยายเป็นมอญ บางคนสับสนในการเป็นตัวตนของตัวเอง

นอกจากความรู้ที่ได้จากเวทีแล้วผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสลงไปสัมผัสกับชุมชนที่มัสยิดบ้านฮ่อตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเชียงใหม่ติดกับตลาดไนท์บาซาร์  สาระสำคัญและสิ่งที่เห็นชัดเจนของชุมชนมุสลิมที่นี่คือความเข้มแข็งของชุมชนมุสลิมจีน การรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์จีนคือการพูดภาษาจีน สอนภาษาจีน อ่านคุตบะฮด้วยภาษาจีน สิ่งประทับใจคือการกล่าวต้อนรับของท่านอิหม่ามด้วยภาษาจีนและมีล่ามแปล

นอกจากนั้นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นในสังคมสามจังหวัดคือการใช้พื้นที่มัสยิดอย่างครบวงจรทั้งเป็นศูนย์การละหมาด เป็นสถานศึกษา ศูนย์อบรม สถานที่จัดกิจกรรม และที่สำคัญมากคือการบริหารมัสยิดที่เป็นระบบและมีเงินหมุนเวียนในการเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริหารโรงเรียนและมัสยิด มัสยิดบ้านฮ่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สร้างบรรยากาศแห่งอิสลาม

ประเด็นสำคัญอาคารมัสยิดและอาคารโรงเรียนห้าชั้นที่โดดเด่นใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 30 ล้านบาทเป็นเงินบริจาคของมุสลิมทั้งในประเทศไทยและจากมุสลิมในมลฑลยูนาน และไม่มีเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐบาลไทยเลย รายได้หลักของมัสยิดนอกจากเงินบริจาคแล้วมัสยิดมีอาคารพาณิชย์ให้เช่าและนำเงินตรงนี้มาบริหารจัดการมัสยิดและโรงเรียน

หากมัสยิดในพื้นที่มีอิหม่าม คอเต็บ บิลาล และคณะกรรมการมัสยิดในพื้นที่มีวิสัยทัศน์และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารมัสยิดและโรงเรียนโดยไม่ต้องแบมือรอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเพียงอย่างเดียวน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและพัฒนามัสยิดและโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของมัสยิดได้อย่างครบถ้วนสังคมสามจังหวัดสามารถพัฒนาได้มากกว่านี้

“การธำรงอัตลักษณ์ของแต่เผ่าพันธุ์คือการธำรงไว้ซึ่งภาษา วัฒนธรรม ศาสนาและมาตุภูมิให้คงอยู่ตลอดไป”
http://thai.amannews.org/view/view.php?id=946